วิ่งช้า / วิ่งเร็ว …. แบบไหนเบิร์นกว่า

          หากเราเดินหรือวิ่งเหยาะๆ ร่างกายจะเผาผลาญไขมันมากกว่าแป้ง เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายที่ไม่เข้มข้น (low intensity workout) ทำให้เรายืนระยะ วิ่งได้ไกลและนานกว่า การวิ่งที่ใช้ความหนักมากกว่าเลยเหนื่อยเร็วกว่า ทำให้วิ่งได้ไม่นานจนถึงระยะเวลาที่ร่างกายจะดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงาน นั่นเพราะร่างกายจะเริ่มเผาผลาญไขมันเมื่อมีเราเดินหรือวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 30 นาทีขึ้นไป แต่หากระหว่างทางเราหยุดพักก่อน ร่างกายจะเรียนรู้และย้อนกลับไปเอาพลังงานจากส่วนอื่นมาใช้ ไม่ได้เบิร์นไขมันเสียที
          การเดินและวิ่งเหยาะ (หรือ จ๊อกกิ้ง) ที่ความเข้มข้นปานกลาง หรือการออกกำลังกายแบบ Aerobic นอกจากเบิร์นไขมันได้ดีแล้ว ยังสร้างความทนทาน (endurance) และความอึด (stamina) และหัวใจแข็งแรงอีกด้วย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส แม้คุณเป็นมือใหม่หัดวิ่งก็ตาม แต่ถ้ามองในเรื่องกล้ามเนื้อและความฟิตของร่างกาย การวิ่งเร็วตอบโจทย์ได้ดีกว่า แม้จะเบิร์นไขมันน้อยกว่าก็ตาม เพราะร่างกายจะเผาผลาญพลังงานโดยรวม ทั้งจากไขมันและแป้ง ข้อดีคือร่างกายจะยังคงเผาผลาญต่อเนื่องแม้จะวิ่งเสร็จแล้ว หรือที่เราเรียกกันว่า Afterburn Effect (EPOC/ Excess Post-Exercise Oxygen Consumption)
                                                                                     
เดิน/วิ่งเหยาะ (Aerobic) = เข้มข้นปานกลาง > เบิร์นไขมันดี แต่ใช้แคลอรี่น้อย
                                                                                     
วิ่งเร็ว (Anaerobic) = เข้มข้นสูง > หายใจสั้น ออกซิเจนเข้ากระแสเลือดต่ำ > เบิร์นไขมันไม่ทันเลย ดึงพลังงานจากไกลโคเจนมากกว่า
ยิ่งเหงื่อออก ยิ่งเบิร์น จริงหรือ 🔥
            หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการที่เราวิ่งแล้วเหงื่อออกเยอะๆ นั่นคือเบิร์นไขมันแล้วนะ บางคนใส่เสื้อหนาๆ เช่น เสื้อวอร์ม หรือ ชุดตะกั่ว ขณะวิ่งเพื่อหวังให้เหงื่อออก รีดน้ำ รีดไขมัน วิ่งเสร็จชั่งน้ำหนักแล้วเลขน้อยลง ซึ่งน้ำหนักตัวเราลดลงจริงแต่มันคือปริมาณเหงื่อที่เสียไป ส่งผลให้น้ำในกระแสเลือดลดลง เลือดจะข้นและไปเลี้ยงสมองน้อย ไม่ได้เกี่ยวกับการเบิร์นไขมันแต่อย่างใด
“วิ่งเท่ากัน เหงื่อออกแค่ไหนก็เบิร์นเท่ากัน”
                                                                                       
การกินก็สำคัญ 🔥🔥🔥
            แม้เราจะวางแผนการวิ่งเป็นอย่างดีเพื่อให้เบิร์นไขมันได้มากที่สุด เพื่อหุ่นดี ไร้พุง แต่อีกปัจจัยที่หลายคนหลงลืมไปคือโภชนาการและสิ่งที่กินเข้าไป ดังนั้นเราควรควบคุมการกิน อาจเพิ่มเวทเทรนนิ่งเพื่อให้กล้ามเนื้อซึ่งช่วยเพิ่มอัตราเผาผลาญไขมัน ควรกินอาหารให้พลังงานสมดุลกับพลังงานที่เสียไปจากการวิ่ง หากเราวิ่งเยอะมากแต่กินน้อยมาก น้ำหนักลงเร็วแต่เสี่ยงอาการโยโย่ เพราะร่างกายจะเริ่มรับรู้ว่าขาดพลังงาน จึงไม่ยอมนำไขมันมาใช้ ทำให้กล้ามเนื้อหายแทน ในขณะเดียวกันหากวิ่งเยอะมาก แต่กินเยอะมากเกินไป ก็ไม่ช่วยให้มวลไขมันในร่างกายลดอยู่ดี หุ่นอาจไม่ดีขึ้น แต่จะได้ความอึดแทน
การหักโหมเพื่อลดน้ำหนักไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพ อย่าเร่งตัวเอง ให้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือต้อง “สม่ำเสมอ”
นายดลพัฒน์ คุ้มสกุล

นายดลพัฒน์ คุ้มสกุล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *