ปัจจุบัน ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือการกลับมาวิ่งหลังจากติดเชื้อโควิด-19
วิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกัน (American College of Sports Medicine- ACSM) ได้ให้ข้อมูลสำหรับการออกกำลังกายในผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 แบ่งตามความรุนแรงขณะป่วย ดังนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ
ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรืออาการทางเดินหายใจไม่รุนแรง อาจมีเพียงไอเล็กน้อย ใช้เวลารักษาน้อยกว่า 7 วัน ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และความผิดปกติของหัวใจ
ควรพักและงดออกกำลังกายหลังทราบว่าติดเชื้อ 5 วัน
หลังกักตัวตามกำหนด ช่วง 2-3 วันแรก สามารถออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
เมื่อไม่มีอาการผิดปกติ สามารถออกกำลังหนักขึ้น เพิ่มระยะเวลามากขึ้นได้ เช่น วิ่งช้าๆ หรือปั่นจักรยาน โดยควบคุมให้ชีพจรไม่สูงเกิน 70% ของชีพจรสูงสุด และไม่ควรเกิน 15 นาที
ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลา เป็น 30 นาที 45 นาที และ 60 นาที ควบคุมชีพจรให้ไม่เกิน 80% ของชีพจรสูงสุด โดยสังเกตอาการควบคู่ไปด้วย
ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ หากไม่พบความปกติหรือไม่มีอาการเหนื่อยหอบ สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติ
ระยะเวลา 2 สัปดาห์ตั้งแต่เริ่มป่วย เป็นระยะเวลาสั้นที่สุดที่สามารถกลับมาวิ่งตามปกติอีกครั้ง แต่การวิ่งมาราธอนต้องใช้ร่างกายหนักมาก โดยไม่ได้ซ้อมเต็มที่ ถือว่าเร็วเกินไป หากต้องการลงวิ่งมาราธอน ควรรอให้ครบ 1 เดือนหลังจากติดเชื้อ จะเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยมากกว่า
ผู้ป่วยโควิด-19 อาการปานกลางและรุนแรง
การติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง ระยะเวลาป่วยนานเกินกว่า 7 วัน แม้ไม่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่พบว่าหายใจหอบเหนื่อยตอนพัก หรือใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นอาการของภาวะหัวใจผิดปกติ
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมักเกิดความเสียหายโดยตรงกับ “ปอด” ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินหายใจ การฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค ยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์แต่มีปริมาณน้อยลง และช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังหายจากโรค ร่างกายสามารถฟื้นฟู แต่ยังรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และเจาะเลือดดูโทรโปนิน (Troponin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อดูความผิดปกติ ก่อนตัดสินใจออกกำลังกาย
กรณีอาการปานกลาง และผ่านการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเจาะเลือดดูโทรโปนิน สามารถออกกำลังกายเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไปได้
หากเป็นกลุ่มอาการหนัก และผ่านการตรวจเพิ่มเติมแล้ว ควรพักอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและทางเดินหายใจ ก่อนออกกำลังกาย
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) แนะนำว่าผู้มีความเสี่ยงสูงหรือกรณีมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน
ออกกำลังกายได้ปกติภายในบ้าน
ควรกักตัวเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อประเมินว่าติดเชื้อหรือมีอาการ
การฟื้นฟูสุขภาพปอดและหัวใจ ก่อนกลับมาวิ่ง
สำหรับผู้ป่วยหลังหายจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ปอดจะได้รับผลกระทบโดยตรง อาจถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนี้โรคโควิด-19 ยังส่งผลเสียถึงหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงสมรรถภาพร่างกายโดยรวมด้วยเช่นกัน

ระหว่างป่วย ร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 จึงส่งผลให้เซลล์สุขภาพดีได้รับผลกระทบโดยไม่ได้ตั้งใจ อวัยวะต่างๆ เกิดภาวะอักเสบ (Multisystem Inflammatory Syndrome: MIS) แม้หายป่วยแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาโรค รวมถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ 100% จึงมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสุขภาพโดยรวม
บริหารปอดหลังติดโควิด-19
โดยทั่วไปลักษณะปอดอักเสบจากโรคโควิด-19 จะเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตำแหน่ง และมักเป็นทั้ง 2 ข้าง กรณีเข้ารักษาทันท่วงที และได้รับยาที่เหมาะสม ปอดจะสามารถฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อหายป่วยแล้ว อาจเหลือรอยโรคหรือแผลเป็น จึงทำให้รู้สึกว่าหายใจได้ไม่เต็มที่ อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย สามารถทำได้ ดังนี้
ฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) มีความจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค โดยการออกแรงหายใจเข้าทางจมูกจนสุด จากนั้นควบคุมลมหายใจออกทางปากช้าๆ จนลมหมดปอด แล้วเริ่มทำใหม่อีกครั้ง ประมาณ 10-15 ครั้งต่อวัน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้เนื้อปอด จนค่อยๆ ฟื้นตัว
การฝึกหายใจด้วยการเป่ากระดาษ ด้วยการหายใจเข้า แล้วหายใจออกห่อปากจู๋ ค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกช้าๆ ควบคุมกระดาษทิชชูให้ปลิวนานที่สุด
การบริหารปอด อยู่ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัวเช่นกัน เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด โดยใช้อุปกรณ์ Triflow (Triball incentive spirometer) เครื่องบริหารปอดชนิดควบคุมการไหลเข้าของอากาศ กระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถสูดหายใจเข้าแรงๆ จนลูกบอลลอยขึ้นสูงสุด และลอยค้างนานที่สุด ถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่
การออกกำลังกายเบาๆ ในสัปดาห์ที่ 3-4 แม้ร่างกายยังรู้สึกอ่อนเพลีย แต่ปอดเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง จึงควรเริ่มออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เช่น การลุกเดินบ่อยๆ เดินช้าๆ จนสามารถเพิ่มความเร็วได้ หรือเริ่มวิ่งเหยาะๆ
ดูแลสุขภาพหัวใจ หลังติดเชื้อโควิด-19
กรณีไวรัสเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรคหัวใจอื่นๆ หากพบว่าหายป่วยแล้ว แต่มีภาวะใจสั่น เจ็บหน้าอก ควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ เพื่อทำการซักประวัติและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงการรักษาจนหาย รวมถึงการตรวจร่างกายอื่นๆ เช่น ตรวจเอกซเรย์ปอด เช็กการหายใจ ตรวจเลือด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นต้น

ความรุนแรงของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคยังคงดำเนินต่อไป ทั้งผู้ป่วยไม่แสดงอาการ มีอาการแสดงปานกลาง และรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงมีผู้เสียชิวิต
สำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรง แม้หายแล้ว แต่ภาวะปอดอักเสบรุนแรงส่งผลให้เกิดรอยโรค เช่น แผลเป็นหรือพังผืดในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น และไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เหมือนเดิม ซึ่งในภาวะปกติอาจไม่ค่อยรู้สึก แต่หากต้องออกกำลังกายหรือวิ่งจะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก
นักวิ่งควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ วิ่งระยะสั้น หมั่นฝึกซ้อม รวมถึงฝึกการฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้นเท่าที่ทำได้ สิ่งสำคัญ คือ การปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางและเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้